ประวัติคณะแพทย์ฯ 2020-12-30T16:00:10+07:00

ประวัติคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข

วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยพระปณิธานในศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 โดยแรกก่อตั้งทรงพระราชทานนามว่า “สำนักวิชาแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข” เป็นสำนักวิชาการสำนักแรกที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นภายใต้สังกัดโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มูลนิธิจุฬาภรณ์ โดยทรงมุ่งหวังให้สำนักวิชาแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนและผลิตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการสาธารณสุขในสาขาที่ขาดแคลน รวมทั้งจัดการศึกษาระดับหลังปริญญาในสาขาต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ โดยแรกเริ่มจัดตั้ง ทรงกำหนดให้ผลิตแพทย์ที่มีความเป็นนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จำนวน 32 คน พยาบาลจำนวน 50 คน และนักรังสีเทคนิคจำนวน 40 คน

โครงการจัดตั้งสำนักวิชาแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษาพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในปี 2560 ซึ่งนอกจากจะมีการจัดตั้งสำนักวิชาแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขแล้ว ยังประกอบไปด้วยการก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ส่วนขยาย 400 เตียง เพื่อรองรับปริมาณคนไข้ที่เพิ่มมากขึ้น และสนับสนุนการเรียนการสอนหลักสูตรต่างๆ ของสำนักวิชาแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยรักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขท่านแรก ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และกรรมการมูลนิธิจุฬาภรณ์ และผู้บริหารจัดการภารกิจต่างๆ ของสำนักวิชาฯ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล ในฐานะรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิจัยและวิชาการ และกรรมการมูลนิธิจุฬาภรณ์

ต่อมาเมื่อวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ได้รับการประกาศจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2558 ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในและภายใต้กำกับของมูลนิธิจุฬาภรณ์ โดยเปลี่ยนชื่อจาก สถาบันการแพทย์จุฬาภรณ์ ในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา และเมื่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. 2559 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ซึ่งพระราชบัญญัตินี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 เมษายน 2559 ภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นเวลา 90 วัน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดโครงสร้างขององค์กรใหม่ตามโครงสร้างของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขจึงได้รับการปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข” และย้ายสังกัดจากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มูลนิธิจุฬาภรณ์ มาอยู่ในสังกัดของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นส่วนงานหนึ่งภายใต้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมีศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล เป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขคนแรก ในวันที่ 1 เมษายน 2560

คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขได้ดำเนินการรับนักศึกษารุ่นที่ 1 ในปีการศึกษา 2560 ได้แก่ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต โดยความร่วมมือกับโรงพยาบาลรามาธิบดี (หลักสูตรรามาธิบดี-จุฬาภรณ์) จำนวน 32 คน และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค จำนวน 40 คน ต่อมาในปีการศึกษา 2561 ได้เปิดรับนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ โดยความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จำนวน 40 คน และในปีการศึกษา 2562 ได้เปิดรับนักศึกษาระดับวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์ จำนวน 10 คน โดยในปีการศึกษา 2563 จะเปิดรับนักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตร 7 ปี (iBSc/MD) โดยความร่วมมือกับ University College London (UCL) สหราชอาณาจักร จำนวน 32 คน และในปีการศึกษา 2565 จะเปิดรับนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมและวิศวกรรมการแพทย์ (BSc/BEng) โดยความร่วมมือกับ University of Newcastle ออสเตรเลีย จำนวน 40 คน

สำนักวิชาแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของหลายๆ สาขาวิชา/คณะในราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยในช่วงที่มีการปรับโครงสร้างองค์กรตามพ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้มีการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งต่อมาในปีการศึกษา 2560 ได้เปิดรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์รุ่นแรก ต่อมาในปี 2562 ได้มีการอนุมัติจัดตั้งคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพขึ้นอีก 1 คณะ จึงได้รับโอนย้ายหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิคจากคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข นอกจากนี้ โรงเรียนการสัตวแพทย์และสัตววิทยาประยุกต์เดิมมีโครงสร้างอยู่ภายในสังกัดคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ซึ่งต่อมาได้แยกออกไปเป็นคณะสัตวแพทย์และสัตววิทยาประยุกต์ ในปี 2563

คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขในช่วงแรกมีสำนักงานชั่วคราวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ต่อมาย้ายไปสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ชั้น 11 และตึกกสทช. (CAT2) ชั้น 4 ตามลำดับ โดยตึกถาวรของคณะฯ ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ในบริเวณข้างเคียงกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ส่วนขยาย 400 เตียง โดยเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565

คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขมีสีประจำคณะ คือสี Emerald green มีอัตลักษณ์ของบัณฑิตคือ “มีปัญญาและทักษะชีวิตที่เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต” มีคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์คือ CRAMDPH (Commitment, Research and innovation/resilience, Altruism, Mastery, Digital literacy, Professionalism และ Humility & Volunteerism) และเอกลักษณ์ของคณะฯ คือ  “เป็นต้นแบบการบูรณาการสหสาขา ด้านการบริหารจัดการการศึกษา การบริการวิชาการและสังคม และการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ อย่างเป็นเลิศ เพื่อทุกชีวิต” โดยมีรหัสของหลักสูตรต่างๆ ดังนี้