พิธีลงนาม MOU ระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนับสนุนภารกิจด้านการจัดการศึกษาทางการแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาศักยภาพทางการแพทย์ งานวิจัย และงานวิชาการอย่างยั่งยืน วันพุธที่ 5 กันยายน 2561 เวลา 10.00 น. ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และพลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ณ ห้องประชุมชัยจินดา 1 ชั้น 20 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตำรวจ

เพื่อสนองพระปณิธานในศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนับสนุนภารกิจราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในด้านการจัดการเรียนการสอนระดับคลินิก ของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมทั้งร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางการแพทย์ งานวิจัย และงานวิชาการเพื่อประโยชน์อันสูงสุดต่อระบบการแพทย์และการสาธารณสุขไทยในอนาคตต่อไป​

พลตำรวจโท วิฑูรย์ นิติวรางกูร นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจกล่าวว่า โรงพยาบาลตำรวจ เป็นโรงพยาบาลของรัฐ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ขนาด 800 เตียงในปี 2561 ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลจากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล โดยเฉลี่ยให้การตรวจรักษาผู้ป่วยนอก 700,000 รายต่อปี ผู้ป่วยใน 17,000 รายต่อปี และยังมีบริการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจสุขภาพให้แก่ข้าราชการตำรวจ ครอบครัวตำรวจและประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งด้านการตรวจพิสูจน์ทางการแพทย์ของสถาบันนิติเวชวิทยา เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว มีการพัฒนาองค์กรสู่การบริการทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูงสามารถทำการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนได้

โรงพยาบาลตำรวจเปิดทำการสอนฝึกอบรมแพทย์ฝึกหัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2511 โดยได้รับการรับรองจากแพทยสภา และได้พัฒนาการฝึกอบรมมาเป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2527 เป็นสถานที่ฝึกอบรมนักศึกษาแพทย์ปีสุดท้ายของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐมาเป็นเวลานานและดำเนินการตามนโยบายของประเทศผ่านทางแพทยสภา เนื่องจากศักยภาพของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาในศูนย์การรักษาที่เป็นเลิศทางวิชาการและการวิจัยที่มีประสิทธิภาพ ศักยภาพด้านบริหารจัดการ พร้อมทั้งการยอมรับของสังคมและการเป็นโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจจึงเป็นสถาบันการฝึกปฏิบัติที่ได้รับความสนใจและน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ขอให้เข้าร่วมเป็นสถาบันผลิตแพทย์ให้กับประเทศอย่างต่อเนื่องทุกปี

สำหรับการดำเนินงานของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักที่จะร่วมสนับสนุนภารกิจด้านการจัดการศึกษาทางการแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มุ่งเน้นการผลิตบุคลากรทางการสาธารณสุขที่ขาดแคลน สร้างบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพ เป็นนักวิจัย นักพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา และยกระดับการสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งได้จัดการเรียนการสอนโดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และสถาบันสมทบที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้หลักสูตรมีมาตรฐานระดับสากลโดย ณ ปัจจุบันมีหลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอนไปแล้ว ได้แก่ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรที่มุ่งบูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เทคโนโลยี และการวิจัย เพื่อผลิตแพทย์ที่มีความรู้ ทักษะความสามารถในการรักษาพยาบาล และพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยเน้นเพิ่มทักษะด้านการวิจัยและปลูกฝังการเป็นแพทย์เพื่อมุ่งทำประโยชน์และช่วยเหลือประชาชนด้วยจิตเมตตา หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และทักษะในวิชาชีพรังสีเทคนิค ที่สามารถถ่ายทอดความรู้และมีเจตคติอันดีงามเกี่ยวกับวิชาชีพ ตลอดจนสามารถสร้างงานวิจัยในแขนงวิชาที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ เปิดการเรียนการสอนรุ่นแรกในปีการศึกษา 2561 และยังเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทย มุ่งผลิตบัณฑิตเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหาระบบสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศไทย โดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ข้อมูล เรียนรู้และลงมือปฏิบัติเกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์ จัดเก็บข้อมูลประเภทต่าง ๆ รวมถึงการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หลักสูตรดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตามโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่เนื่องจากเป็นความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีอีกด้วย

นอกจากนี้ ทางคณะฯ จะเปิดหลักสูตรใหม่ ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์ โดยเป็นความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศออสเตรเลีย มุ่งเน้นสร้างนักศึกษาให้มีความสามารถในด้านการปฏิบัติการคลินิกฟิสิกส์การแพทย์ด้านรังสีรักษา และมีศักยภาพในด้านการวิจัยในสาขาฟิสิกส์การแพทย์ โดยจะเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2562 และยังมีหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตนานาชาติ ที่เป็นความร่วมมือกันในการพัฒนาหลักสูตรระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร โดยจะเป็นหลักสูตรแพทย์ 7 ปี ที่นักศึกษาแพทย์จะได้มีโอกาสเข้าร่วมทำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยยูซีแอล ระหว่างการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับพระปณิธานและเป้าหมายสำคัญของหลักสูตร คือ การผลิตแพทย์ที่มีความโดดเด่นทั้งในด้านการเป็นผู้นำในวิชาชีพเป็นแพทย์ที่ดีมีคุณธรรมจริยธรรม และมีความรู้ความสามารถในด้านวิจัย และพัฒนานวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งคาดว่าจะเปิดรับนักศึกษาแพทย์ในปีการศึกษา 2563 เมื่อได้รับการอนุมัติจากแพทยสภา รวมถึงหลักสูตรใหม่ที่เน้นเรื่องของการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ร่วมกับการดูแลซ่อมแซมเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งนักศึกษาที่เข้าศึกษาในหลักสูตรนี้จะได้รับปริญญา 2ใบ คือ ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศออสเตรเลีย และหลักสูตรสัตวแพทย์ศาสตร์บัณฑิตเพื่อผลิตสัตวแพทย์ศาสตร์ตามพระปณิธานขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

2019-11-13T13:39:17+07:00