เกี่ยวกับหลักสูตร 2020-07-01T22:25:40+07:00

เกี่ยวกับหลักสูตร

ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดหลักสูตรใหม่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ (Health Data Science) ระดับปริญญาตรี ในปีการศึกษา 2561 เป็นแห่งแรกในประเทศไทยและในระดับอาเซียน ตอบโจทย์การขยายตัวอย่างรวดเร็วของข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และรองรับความต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ซึ่งเป็นสาขาใหม่และมีความสำคัญต่อการรองรับการผลิตข้อมูลจำนวนมหาศาลในทุก ๆ วัน ทั้งจากข้อมูลประวัติการรักษา ข้อมูลการใช้ยา ข้อมูลการวิจัย ตลอดจนแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับสุขภาพต่าง ๆ เพื่อพัฒนาบุคลากรไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ (Health Data Science) มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาระบบสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศไทย โดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ข้อมูล ซึ่งเป็นสาขาวิชาใหม่ที่ไม่เคยมีการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีมาก่อน ดังนั้น บัณฑิตของหลักสูตรฯ จึงเป็นที่ต้องการอย่างมากจากองค์กรในภาคส่วนต่าง ๆ โดยเมื่อจบการศึกษาออกไป บัณฑิตสามารถปฏิบัติงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลภายในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน หน่วยงานรัฐบาล เช่น กระทรวงสาธารณสุข หรือบริษัทที่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น บริษัทประกันชีวิต และสถาบันวิจัยต่าง ๆ นอกจากนี้ บัณฑิตยังสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ต่อยอดกับการทำงานในภาคส่วนธุรกิจได้ และหากบัณฑิตต้องการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา บัณฑิตสามารถเลือกเรียนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ เช่น แพทย์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ระดับโมเลกุล นักวิชาการสาธารณสุข หรือด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ประกันภัย ฯลฯ โดยทั้งสองสถาบันมุ่งหวังให้บัณฑิตของหลักสูตรฯ ออกไปเป็นบุคลากรที่มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลสุขภาพจากแหล่งต่าง ๆ ตลอดจนนำมาใช้แก้ปัญหาทางการแพทย์และการสาธารณสุขได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว มีระเบียบแบบแผน รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

  • รหัสและชื่อหลักสูตร

ระบุรหัส : 25612271100034

ชื่อหลักสูตร (ภาษาไทย) : หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ

(ภาษาอังกฤษ) : Bachelor of Science Program in Health Data Science

  • ชื่อปริญญาและสาขาวิชา

ชื่อเต็ม (ภาษาไทย) : วิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ)

(ภาษาอังกฤษ) : Bachelor of Science (Health Data Science)

ชื่อย่อ (ภาษาไทย) : วท.บ. (วิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ)

(ภาษาอังกฤษ) : B.Sc. (Health Data Science)

  • จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร 125 หน่วยกิต
  • รูปแบบของหลักสูตร หลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี
  • อัตราค่าเล่าเรียน 56,000 บาท/ภาคการศึกษา (มีทุนสนับสนุนค่าเล่าเรียนให้แก่นักศึกษาทุกคน)
  • การให้ปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

ปริญญาเพียงสาขาวิชาเดียว โดยการออกใบปริญญาบัติจะกระทำร่วมกันโดยทั้งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ส่วนการรับปริญญาให้รับร่วมกับทางวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

  • สถานที่จัดการเรียนการสอน

วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

  • ปรัชญาของหลักสูตร

ผลิตนักวิทยาศาสตร์ที่มีทักษะปฏิบัติที่ดี สามารถเรียนรู้ได้เองอย่างต่อเนื่อง ประยุกต์องค์ความรู้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพ และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่การพัฒนาคุณภาพและสุขภาพของประชาชน

  • ความสำคัญของหลักสูตร

วิทยาศาสตร์ข้อมูลมีบทบาทโดยตรงต่อการออกแบบ พัฒนา และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพบุคคล อันเป็นรากฐานสำคัญของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพและสุขภาพของประชาชน

  • วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
  1. ผลิตบัณฑิตวิทยาศาสตร์ข้อมูลให้มีทักษะ 5 ด้าน ได้แก่ การเรียนรู้ด้วยตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ ตระหนักในคุณธรรมและจริยธรรม มีทักษะทางสังคม และเป็นนักปฏิบัติ
  2. ผลิตบัณฑิตวิทยาศาสตร์ข้อมูลให้มีความรู้ด้านซอฟต์แวร์การประยุกต์ใช้งานคอมพิวเตอร์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพและสุขภาพของประชาชน
  3. เพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมจากต่างประเทศ
  4. เพื่อให้บริการวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลในประเทศไทยโดยเน้นการวิจัยและพัฒนาที่ใช้ข้อมูลทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ สุขภาพ และสาธารณสุข
  5. เพื่อปลูกฝังนักศึกษาให้มีจิตสำนึกในการใฝ่เรียนรู้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
  • ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังระดับหลักสูตร

หลักสูตรวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพได้กำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตร ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ข้างต้น ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยทั้งสอง ตลอดจนความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน บุคลากรของภาควิชา และผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ดังนี้

PLO1 : ประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในการสกัดองค์ความรู้จากข้อมูล (Extract Knowledge from Data)

  • Sub PLO1 : 1A วิเคราะห์ สร้าง และประเมิน โมเดลทางคณิตศาสตร์ ได้อย่างเหมาะสมและเป็นระบบ
  • Sub PLO1 : 1B ออกแบบการทดลองเกี่ยวกับข้อมูล ได้อย่างเหมาะสมและเป็นระบบ
  • Sub PLO1 : 1C ประยุกต์ความรู้พื้นฐานในการออกแบบและสร้างเครื่องมือสารสนเทศเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
  • Sub PLO1 : 1D สามารถสืบค้นข้อมูลข่าวสาร เสาะหาความรู้ วิเคราะห์และสรุปประเด็นปัญหาได้ด้วยตัวเอง และบูรณาการองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนา ปรับปรุงแบบจำลองทางคณิตศาสตร์
  • Sub PLO1 : 1E สามารถคิดได้อย่างเป็นระบบและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างเหมาะสม
  • Sub PLO1 : 1F สามารถทำงานตามบทบาทและหน้าที่ในการทำงานรวมกันเป็นทีมจากกลุ่มคนจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ

PLO2 : มีทักษะในการสื่อสาร ทั้งทางการพูด การเขียน และการนำเสนอ องค์ความรู้และความเข้าใจที่ลึกซี้งให้กับบุคคลทั่วไป (Communicate Insight)

  • Sub PLO2 : 2A มีทักษะในการสื่อสารและต่อรองอย่างมีประสิทธิภาพ
  • Sub PLO2 : 2B มีทักษะในการนำเสนอผลงานและอธิบายองค์ความรู้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิผล
  • Sub PLO2 : 2C ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือการสื่อสารข้อมูลที่ทันสมัย ในการสร้าง Dashboard เพื่อนำเสนอข้อมูลอย่างมีประสิทธิผล

PLO3 : ปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ ยึดหลักจริยธรรม และคำนึงประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Practice with Professional Ethics and Social Awareness)

  • Sub PLO3 : 3A เคารพกฎระเบียบและข้อบังคับขององค์กรและสังคม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีจริยธรรม และจรรยาบรรณในวิชาชีพ
  • Sub PLO3 : 3B มีวินัย ตรงต่อเวลา รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
  • Sub PLO3 : 3C คิดอย่างมีวิจารณญาณในการวิเคราะห์และประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้